“ซุปเปอร์ฟู้ด” สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คืออะไร?
วันนี้เราได้หยิบเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับคุณแม่มือใหม่มาฝาก สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็คือสารอาหารที่ทานในแต่ละมื้อ เพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กอย่างมาก ดังนั้น การวางแผนรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสุขภาพที่แข็งแรงของทั้งคุณแม่และลูกน้อยไปพร้อมๆกัน มาดูกันว่าสารอาหาร 5 ประเภทที่ขาดไม่ได้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง
โปรตีน ร่างกายของคุณแม่จำเป็นต้องได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นในปริมาณ 10 กรัมต่อวัน เพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งโปรตีนสำคัญได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา ไข่ นม ถั่ว และถั่วเหลือง
โฟเลต หรือกรดโฟลิก ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของท่อระบบประสาท ซึ่งมักเกิดในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ควรได้รับโฟเลตในปริมาณ 600 ไมโครกรัม ทุกวัน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยมากโฟเลตสามารถพบได้ในเครื่องใน เช่น ตับ ไต หรือผักใบเขียว ข้าว ถั่ว บร็อคโคลี และ สตรอเบอรี่
แคลเซียม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันให้กับคุณแม่และลูกน้อย และป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต คุณแม่จึงควรได้รับแคลเซียมเป็นประจำทุกวัน โดยแคลเซียมมีมากใน นม โยเกิร์ต ชีส เต้าหู้ บร็อคโคลี ถั่วอัลมอนด์ และกระเจี๊ยบเขียว
ไฟเบอร์ ทำหน้าที่ช่วยขจัดอาการท้องผูก และริดสีดวงทวาร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกับผู้หญิงมีครรภ์ การรับประทานอาหารที่มีกากใยจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชต่างๆ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกอิ่ม สบายท้อง
ไขมัน เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาทส่วนกลางของทารก นอกจากนี้ ไขมันยังเป็นแหล่งสร้างพลังงาน และช่วยนำวิตามินไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายด้วย โดยไขมันพบมากในถั่ว อโวคาโด ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา
ดีเอชเอ (DHA) กรดไขมันจำเป็นในกลุ่มโอเมก้า-3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ แต่สำคัญต่อการพัฒนาสมองและสายตาของทารก ซึ่งจากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า 40% ของกรดไขมันในสมอง และ 60% ของกรดไขมันในประสาทตา คือ ดีเอชเอ พบมากในอาหารจำพวกปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคคอเรล เป็นต้น
หากคุณแม่และทารกได้รับดีเอชเอไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ลูกน้อยมีปัญหาด้านการมองเห็น เสี่ยงต่อการเป็นโรคตาบอดกลางคืน มีพัฒนาการช้า ระดับไอคิวต่ำ หรือสมาธิสั้น ดังนั้น คุณแม่ที่มีครรภ์ระหว่าง 25-35 สัปดาห์ และคุณแม่ที่ให้นมบุตรจึงควรได้รับ DHA ในปริมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งในช่วงตั้งครรภ์ การที่ทารกได้รับดีเอชเอผ่านทางรก จะช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวและลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด และเมื่อถึงระยะที่สมองเจริญเติบโตสูงสุดในช่วง 3 เดือนก่อนและหลังคลอด ทารกจะมีความต้องการดีเอชเอในปริมาณสูง เพื่อนำไปใช้ในการสร้างและพัฒนาสมอง ระบบประสาท และสายตา จนถึงอายุ 3 ปี จึงถือว่าเป็นโอกาสทองของคุณแม่ที่จะมอบสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อลูกน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมของลูกน้อยในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในอนาคต
บทความแนะนำ :
ต้องอ่าน!! 14 ข้อห้ามสำหรับคนท้อง
Strong สุดๆ 17 ความลำบากของคุณแม่ ในช่วงตั้งครรภ์
รู้หรือไหม?…ลูกดิ้นกี่ครั้งจึงจะเรียกว่าปกติ
อาหารสำหรับ คุณแม่คนท้อง 1-2 เดือนแรก
ขอบคุณข้อมูลจาก : รักลูก.com