0005

อาเจียนเรื้อรังในลูกน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่ลูกน้อยเป็น โดยลูกน้อยอาจอาเจียนมากมักมาจากอาหารเป็นพิษ พบร่วมกับอาการไข้ หรือติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า “ไวรัสลงกระเพาะ” ก็เป็นได้ค่ะ

ข้อสังเกต

  1. ขย้อนหรือแหวะนม เป็นอาการของกรดไหลย้อน (Gastric-esophageal reflux disease) แต่ถ้าอาเจียนพุ่ง อาจมาจากการอุดกั้นทางออกกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีความดันในสมองสูง
  2. อาเจียนเพราะอาหารไม่ย่อย มักมาจากการอุดกั้นในหลอดอาหาร แต่ถ้าอาเจียนแล้วมีน้ำดีปนออกมา แสดงว่ามีการอุดกั้นที่ลำไส้เล็กต่ำกว่าทางเปิดเข้าของน้ำดี
  3. ช่วงเวลาอาเจียน หากลูกอาเจียนตอนเช้า เป็นเพราะความดันในสมองสูง หรือน้ำมูกหยดลงคอจากไซนัสอักเสบ แต่ถ้าอาเจียนหลังเริ่มกินอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเพราะกระเพาะอาหารอุดตัน
  4. ประวัติจากโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้อาหารคนในครอบครัว การเลี้ยงดู ในวัยรุ่นคุณหมอจะดูประวัติการมีประจำเดือน ความเครียด และพฤติกรรมการกินด้วย
  5. อาการร่วมอื่น ๆ

– อาเจียนร่วมกับปวดหัว เป็นเพราะความดันในสมองสูง ไมเกรน หรือไซนัสอักเสบ

– อาเจียนร่วมกับเจ็บใต้ชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ แสดงว่าอาจเป็นโรคตับอักเสบ และภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)

– อาเจียนร่วมกับถ่ายเป็นน้ำ อาจติดเชื้อไวรัสโรต้า โดยมีไข้ อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำร่วมกัน

  1. อาการร่วมระบบทางเดินอาหาร

– คลื่นไส้

– กลืนยาก อาจแสดงว่าหลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ โรคของท่อน้ำดีหรือตับอ่อนอักเสบ และลำไส้อุดกั้น

– ท้องอืด เป็นผลจากลำไส้อุดกั้น (Intestinal pseudo-obstruction) หรือการอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง

 

การดูแลและรักษา

ในเด็กเล็กการอาเจียนอาจทำให้น้ำหนักขึ้นช้า มีผลต่อพัฒนาการได้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย วางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งอาจเป็นการกินยา ปรับด้านอาหาร การเลี้ยงดู ปรับพฤติกรรม หรือผ่าตัดเพื่อรักษา ซึ่งขึ้นกับสาเหตุของการอาเจียนเรื้อรังในแต่ละคน

 

Photo credit: maerakluke.com