สัญญาณการเกิดกรดไหลย้อนของเจ้าตัวเล็ก
กรดไหลย้อนในทารกคืออะไร
ภาวะที่กรดในกระเพาะไหลย้อนมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งจะทราบได้จากการที่ทารกมีอาการแหวะนมออกมาเยอะมากหรือแหวะนมบ่อย อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ยังมีภาวะกรดไหลย้อน ที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้จากการแหวะนม เช่น ปอดอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ, การไอเรื้องรัง, ไอเสียงดังหรือหายใจเสียงดังมาก ๆ เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร ในเด็กเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร (ทำหน้าที่เปิดให้อาหารลงสู่กระเพาะอาหาร และปิดเมื่อกินอาหารเสร็จ) ยังไม่แข็งแรง เมื่อลูกอิ่มนมเสร็จแล้วหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารปิดไม่สนิท จึงทำให้นมหรืออาหารรวมทั้งกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ทำให้ลูกมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ค่ะ
อาการของทารกที่มีภาวะกรดไหลย้อน
– แหวะนมหรืออาเจียนบ่อยและรุนแรง
– ปฏิเสธการป้อนนมหรืออาหาร
– ลูกแสดงความรู้สึกหงุดหงิดง่ายหรือร้องกวนมากกว่าปกติ มักจะเป็นหลังการป้อนนมหรืออาหาร
– น้ำหนักลดหรือไม่ขึ้นตามเกณฑ์
– ไอบ่อย ไอเรื้อรัง และหายใจเสียงดังหรือหายใจลำบาก
– ลูกมีอาการกลั้นหายใจหรือไม่หายใจในช่วงที่เกิดภาวะกรดไหลย้อน
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เลือดจาง อาเจียน เป็นเลือด เสียงแหบ ปอดติดเชื้อบ่อย ๆ หรือหอบหืด โดยที่ไม่มีอาการแหวะนมเลย หากลูกมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ ควรปรึกษาคุณหมอโรคทางเดินอาหาร เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องต่อไปค่ะ
ป้อนกันกรดไหลย้อน
– ให้นมมื้อละน้อย แต่บ่อยขึ้น
– ปรับท่าการให้นมลูก คือต้องยกหัวให้สูงขึ้นกว่าปกติ
– อุ้มลูกเรอทุกครั้งหลังกินนมจะช่วยลดภาวะกรดไหลย้อนได้
– ให้ลูกนอนหัวสูงสัก 15-30 องศา และตะแคงซ้าย เพราะกระเพาะอาหารอยู่ค่อนทางซ้ายจะได้อยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร เพื่อกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ โดยใช้หมอนยันตัวลูกไว้ไม่ให้พลิกมานอนหงาย
– หมั่นสังเกตอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น หอบหืด ไอเสียงดัง ไอเรื้อรัง หรือว่ามีปอดอักเสบบ่อย ๆ
บทความแนะนำ :
แผ่นคูลเจล ลดไข้ได้จริงหรือไม่
5 วิธี รักษาอาการท้องผูกของลูก วัย 0-1 ปี
เมื่อลูกไม่ให้ยอมทานยา ทำอย่างไรดี?
อาหารบำรุงสายตาลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook.com