สารพิษในบ้าน ที่ต้องระวังให้ลูกน้อย!
สำหรับลูกน้อยวัยซน สิ่งที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ ก็คือความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยในบ้านที่คุณแม่อาจนึกไม่ถึง เช่น สิ่งของที่มีในบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นภัยร้ายใกล้ตัวลูก จะเป็นผลกระทบในรูปแบบไหน อย่างไร มาลองเช็กความปลอดภัยภายในบ้านกันค่ะ
สารตะกั่ว : ของเล่น ของใช้ลูก
– อุปกรณ์ศิลปะ เช่น สีหรือดินน้ำมัน ควรเลือกแบบไม่มีสารตะกั่ว non-toxic เพราะลูกน้อยอาจนำเข้าปากได้
– รถบังคับ ตุ๊กตา หรือรีโมทที่ใช้ถ่าน มีสารปรอทและแคดเมียมเป็นส่วนประกอบ คุณแม่ต้องตรวจดูความเรียบร้อย เช่น ถ่านที่นำมาใส่เก่าจนมีน้ำเยิ้มออกมาหรือไม่ ตัวปิดถ่านแน่นหนาดีหรือไม่ เป็นต้น
– ของใช้ในบ้าน เช่น จานหรือชามใส่อาหาร หรือม่านบังแดดที่ทำจากวัสดุไวนิล อุปกรณ์ของเล่นนอกบ้าน ของเหล่านี้ อาจทาด้วยสีที่มีส่วนผสมประเภทตะกั่ว ควรเล่นด้วยความระมัดระวัง ตรวจเช็กอยู่เสมอ และหมั่นล้างมือหลังจากการเล่น
สารให้กลิ่น, สารลดแรงตึงผิว : ผงซักฟอก
– สารให้กลิ่น, สารลดแรงตึงผิว ถ้าเป็นชนิด Non-lonic และ Anionic ถึงจะมีพิษไม่ร้ายแรง แต่มีอันตรายเมื่อมีการสำลักฟองเข้าหลอดลมโดยเฉพาะสารแคลเซียมคาร์บอเนต สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และหากฟุ้งกระจายเข้าตาก็ทำให้เกิดการอักเสบของดวงตา นอกนั้นแล้วยังมีเอนไซม์ หากสารเหล่านี้ปนเปื้อนไปกับอาหาร ก็อาจทำได้เกิดอาการท้องร่วงได้เช่นกัน
สารฟินอล : น้ำยาทำความสะอาด
มักมีสารฟินอล (Phenol) เป็นตัวผสมหลัก หากสัมผัสในปริมาณไม่มากจะไม่ทำอันตราย แต่หากได้รับในปริมาณมากและสัมผัสอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้อาการที่แสดงจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่ร่างกายได้รับสารเคมีนั้นๆ
สารระเหย : ทินเนอร์, กาว
เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นลักษณะของเหลวไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน เป็นสารระเหยที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มีพิษรุนแรงกว่าสารระเหยประเภทเบนซิน จะผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ใช้ผสมสีทาบ้าน, น้ำยาล้างเล็บ หรือกาวซ่อมรองเท้า หากสัมผัสโดยตรง อาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ
เชื้อเพลิง : น้ำมัน
ผลิตภัณฑ์ กลุ่มน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันเครื่อง, น้ำมันดีเซล, น้ำมันหล่อลื่น โดยส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากนัก แต่จะเกิดอันตรายได้ก็ต่อเมื่อมีการสำลัก ทำให้เกิดปอดอักเสบ ถึงอย่างไรก็ไม่ควรมองข้ามความซุกซน เพราะลูกน้อยอาจเผลอทำหก ทำหล่น นอกจากทำให้ลื่นล้ม บาดเจ็บแล้ว อาจกลายเป็นชนวนเชื้อเพลิงต้องระวังเป็นพิเศษค่ะ
อาการแบบไหน “เป็นพิษ” เมื่อสิ่งแปลกปลอม สารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยผ่านการกินการหายใจ หรือการเปื้อนที่ดวงตา ผิวหนัง แล้วทำให้เกิดอาการ จะมีลักษณะของอาการที่เกิดขึ้นหลายลักษณะ เช่น
– ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดง หรือไหม้
– เยื่อบุตา ปาก จะทำให้ไหม้ บวม และแดง
– ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายท้อง
– ระบบประสาท จะมีตั้งแต่อาการชัก ซึม ไปจนถึงหมดสติ
– ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจมีเสียงดัง จนถึงไม่หายใจ
ดังนั้นคุณแม่ต้องหมั่นตรวจความเรียบร้อยภายในบ้าน จุดไหนสิ่งไหนที่สุ่มเสี่ยง เป็นอันตราย ควรเก็บใส่ตู้ที่มีกุญแจล็อกให้เรียบร้อย เก็บให้พ้นมือลูกจอมซน และหากเกิดปัญหาจากสารพิษต่างๆเหล่านี้ นอกจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็กร่างกายค่ะ
บทความแนะนำ :
3 ประเภทของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการลูก
“เบบี้คริสตัล” ของเล่นอันตราย!! ห้ามจำหน่ายเด็ดขาด
ระวังลูกน้อย…ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด!
ของเล่นชิ้นเล็กของลูกน้อย สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้…
ขอบคุณข้อมูลจาก : motherandcare