ffft

สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว โรคมือเท้าปากนี้อาจทำให้หลาย ๆ ครอบครัวที่มีเด็กเล็กในบ้านต้องกังวลกันอย่างแน่นอน เพราะกลัวลูกจะเป็น แล้วไม่รู้ต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีสิ่งที่สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่หมดกังวลมาฝากค่ะ

สาเหตุของโรค “มือเท้าปาก”

เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มใหญ่ชื่อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยมากมาย เช่น ค็อกซากี เอ (coxsackie A) หรือ ค็อกซากี บี (coxsackie B) ซึ่งจะมีสายพันธุ์ย่อยที่มีชื่อต่อท้ายด้วยตัวเลขต่างๆ ในประเทศไทยเชื้อที่เป็นต้นเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ ค็อกซากี เอ 16 นอกจากนี้ยังมีตัวที่พบบ่อยมากขึ้นคือ ค็อกซากี เอ 6 รวมถึงเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 โดยเชื้อที่ระบาดมากในแต่ละช่วงของทุกๆ ปีจะแตกต่างกัน

โรค “มือเท้าปาก” ติดต่อกันได้อย่างไร?

โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น เชื้อไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานนัก ระบาดปีละ 2-3 ครั้ง เริ่มจากช่วงฤดูฝน และระบาดเป็นช่วงๆ จนหยุดไปในช่วงฤดูร้อน เชื้อจะอาศัยอยู่ในสิ่งคัดหลั่งของเรา โดยเฉพาะ น้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระ จึงติดต่อได้ด้วยการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งหรือเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้ออยู่

อาการของโรค “มือเท้าปาก”

อาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ประมาณ 2-4 วัน มีแผลในปาก มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า บางคนอาจมีผื่นลามถึงแขนและขา หรือก้น ผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ส่วนมากหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์หากไม่มีอาการแทรกซ้อน

การรักษาจะเป็นการประคับประคอง ไม่มียาใดได้รับการพิสูจน์ว่ารักษาโรคมือเท้าปากได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปจะให้ยาลดไข้ เช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้ ถ้าเด็กมีอาการทางระบบประสาทก็จะต้องมานอนโรงพยาบาล แพทย์อาจจะให้ยา IVIG ซึ่งอาจช่วยทำให้อาการของคนไข้ดีขึ้น

การป้องกันโรคมือเท้าปาก

“สุขอนามัยที่ดี” คือคำตอบ ควรปลูกฝังสุขอนามัยที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้ทำจนชินเป็นนิสัย ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงที่คนในครอบครัวป่วยเท่านั้น เช่น ให้พี่โตล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนจะมาเล่นกับน้องวัยทารก เมื่อเล่นเสร็จก็ล้างมืออีกครั้ง แยกภาชนะ เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม เครื่องใช้ส่วนตัวออกจากกัน ทำความสะอาดของเล่นที่พี่น้องชอบแบ่งกันเล่นบ่อยๆ หากทุกบ้านทำได้แบบนี้ก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคต่างๆ ให้คนในครอบครัวเดียวกันไปได้มาก

 

Photo credit: kapook.com